• NBTC E-Lib_2022
  • Mobile Application NBTC E-Library
  • PR-Journal
  • PR-Method
  • PR-Smart Digital
  • magazine
  • Facebook Page

KAMONLAK PINYAKONG
10 Jan 2022

รู้จัก You.com เสิร์ชเอนจินน้องใหม่ งัดอาวุธเด็ด “ไม่สะกดรอยผู้ใช้งาน” สู้ Google


ในวงการเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) เบอร์หนึ่งของตลาดนี้ คือ กูเกิล (Google) แซงหน้าอดีตพี่เบิ้มในวงการอย่างยาฮู (Yahoo) ไปไกล หรือแม้แต่บิง (Bing) ของไมโครซอฟท์ (Microsoft)

อันที่จริงในช่วง 15 ปีหลังสุด มีความพยายามของบริษัทน้องใหม่มากหน้าหลายตา พยายามสร้างเสิร์ชเอนจินขึ้นมาเพื่อท้าทายกับกูเกิล ชื่อที่โดดเด่นมากที่สุด คงต้องเป็นชื่อของ DuckDuckGo

อันที่จริงถ้าจะบอกว่า DuckDuckGo ลุกขึ้นมาท้าทายกูเกิลหรือไม่ ผมคิดว่า ก็ไม่ได้ท้าทายตรงๆ อะไรมากนัก ทั้งจากคำพูดหรือรูปแบบการทำธุรกิจ เพียงแต่ DuckDuckGo ใช้จุดแข็งที่ตัวเองมี เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้นำตลาดอย่างกูเกิล โดยชูเรื่องของความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy


 


ริชาร์ด โซเชอร์ ภาพจาก: producthunt


ริชาร์ด โซเชอร์ ภาพจาก: producthunt


 





ริชาร์ด โซเชอร์ ซีอีโอของ You.com เปิดเผยในช่วงการเปิดตัวพับลิกเบตาว่า เวลานี้กูเกิลถือครองความเป็นหนึ่งในโลกเสิร์ชเอนจิน ด้วยการครองส่วนแบ่ง 86.64 เปอร์เซ็นต์

“มันบ้ามากที่มียักษ์ใหญ่ผูกขาดตลาดได้มากขนาดนี้ พวกเขาสามารถควบคุมสิ่งที่คุณอ่าน สิ่งที่คุณบริโภค และสิ่งที่คุณซื้อ โดยที่คุณไม่สามารถต้านทานอะไรได้”

ความน่าสนใจของเสิร์ชเอนจินน้องใหม่นี้ อยู่ตรงที่ความต้องการให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมสิ่งที่อยู่ในเสิร์ชเอนจินได้ ปราศจากระบบโฆษณา และระบบเทคโนโลยีของ SEO ในการค้นหาปัจจุบัน

อินเตอร์เฟซของ You.com มีความแตกต่างจากกูเกิลพอสมควร เพราะการแสดงผลเป็นแบบเลื่อนไปด้านข้างจากซ้ายไปขวามากกว่าที่จะเลื่อนจากบนลงล่าง พร้อมด้วยการแบ่งหมวดหมู่จากคำค้นหา สมมติว่าค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “LeBron James” การแสดงผลจากคีย์เวิร์ดนี้ จะเป็นการค้นหาจากเว็บไซต์ แล้วก็แบ่งตามข้อมูลของเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีข้อมูลของคีย์เวิร์ดที่เราใช้ค้นหา เช่นในที่นี้ก็จะมีเว็บไซต์กีฬาอย่างอีเอสพีเอ็น (ESPN), บลีชเชอร์ รีพอร์ต (Bleacher Report) หรือแม้แต่เว็บบอร์ดอย่างเรดดิต (Reddit) ก็อยู่ในคำค้นของ You.com




การค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดภาษาอังกฤษใน You.com
การค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดภาษาอังกฤษใน You.com


 




อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ใช้งานต้องการปรับแต่งการเชื่อมโยงกับลิงก์ต่างๆ ก็สามารถทำได้ พร้อมกันนี้ การใช้งานภายในเว็บไซต์ You.com ทุกอย่างจะไม่มีการเปิดแท็บใหม่ เป็นการลดเวลาการกดแป้นพิมพ์ และโอเวอร์โหลดของแท็บ

คุณผู้อ่านอาจกังวลว่า แล้วคำค้นหาที่เป็นภาษาไทย You.com ทำได้หรือไม่ จากที่ทดลองใช้งานมาก็ถือว่า ใช้งานได้ครับ โดยใช้คำค้นคำเดียวกัน “เลอบรอน เจมส์” แต่เปลี่ยนเป็นภาษาไทย ก็จะมีข้อมูลต่างๆ ของคำค้นที่เคยปรากฏบนเว็บไซต์ต่างๆ เพียงแต่ว่าลิงก์ในการนำเสนอจะยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ




การค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดภาษาไทยด้วยคำค้นเดียวกัน แต่คนละภาษา
การค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดภาษาไทยด้วยคำค้นเดียวกัน แต่คนละภาษา


 




พร้อมกันนี้ You.com ก็มีโหมด Private ซึ่งอันนี้ไม่ค่อยแปลกใจ เพราะทุกเว็บเบราว์เซอร์มีฟีเจอร์นี้อยู่แล้ว โดยที่ You.com จะไม่บันทึกคำค้นและที่อยู่ไอพี (IP)

สิ่งที่โซเชอร์เน้นย้ำอย่างมาก นั่นคือ ความพยายามไม่เข้ายุ่มย่ามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน พูดง่ายๆ คือ โซเชอร์ กำลังกล่าวหากูเกิลว่า เข้าไปยุ่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานมากเกินไป เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จัดทำโฆษณาบุกรุกรบกวนความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอีกทอดหนึ่ง นั่นเป็นเพราะว่า เสิร์ชเอนจินในปัจจุบันบังคับให้เรายอมจำนนโดยแลกความสะดวกกับความเป็นส่วนตัว

You.com ประกาศตัวตนชัดเจนว่า พวกเขาจะเป็นเสิร์ชเอนจินที่ไม่บุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเพื่อแลกกับเม็ดเงินที่จะกลับเข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัท สิ่งที่ You.com กำลังวางแผนสำหรับพัฒนาธุรกิจ คือการทำความร่วมมือกับเว็บไซต์ค้าปลีกหลายแห่ง พัฒนาระบบแคตตาล็อก เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องใช้เวลาค้นหาจากร้านค้าปลีกต่างๆ โซเชอร์ ยืนยันว่า รูปแบบการหารายได้แบบนี้ เป็นรูปแบบการหารายได้อย่างสร้างสรรค์ (Creative) บริษัทก็ยังโตได้ มีรายได้ มีรายรับ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งยังเป็นการรักษาหลักการของบริษัทเอาไว้ได้อีกด้วย




การต่อสู้ระหว่างยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก
การต่อสู้ระหว่างยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก


 




อย่างไรก็ดี การหารายได้ภายในเว็บไซต์ You.com เวลานี้ยังเป็นเรื่องรอง เพราะเรื่องหลักในเวลานี้ เป็นช่วงเวลาของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่ขายข้อมูลของผู้ใช้งาน และจะไม่มีโฆษณาเข้าไปบุกรุกความเป็นส่วนตัว และไม่ติดตามด้วยคุกกี้ สิ่งที่เราทำในวันนี้คือการการสร้างประสบการณ์ใช้งาน” นั่นเป็นคำพูดของโซเชอร์ในช่วงของการเปิดตัวเสิร์ชเอนจินน้องใหม่

ส่วนที่มาของชื่อ You.com ก็ได้รับการเปิดเผยว่า เพราะทุกอย่างบนเสิร์ชเอนจินนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยตัวของ You หรือก็คือตัวของผู้ใช้งาน ดังนั้นแล้ว สิ่งที่อยู่ในนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คุณต้องการ ทำให้การตั้งชื่อเสิร์ชเอนจินว่า You.com จึงเป็นอะไรที่ถูกต้องแหละเหมาะสมที่สุดแล้ว หากคุณไม่ชอบอะไรใน You.com คุณสามารถปรับแต่งให้มันเป็นตัวคุณ หรือ You ได้ตามความสะดวก

แนวคิดของ You.com ดูจะน่าสนใจไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล ซึ่งยึดครองความเป็นหนึ่งในตลาดเสิร์ชเอนจินมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง You.com ยังเป็นน้องใหม่มากๆ ด้วย และต้องไม่ลืมด้วยว่า ธรรมชาติของมนุษย์พร้อมที่จะยอมสละความเป็นส่วนตัว เพื่อความสะดวกสบาย




You.com น้องใหม่ของวงการเสิร์ชเอนจิน
You.com น้องใหม่ของวงการเสิร์ชเอนจิน


 




ความคิดหนึ่งที่แล่นเข้ามาในสมองในระหว่างที่อ่านรายละเอียดของ You.com นั่นคือ แนวคิดของพวกเขามีความคล้ายคลึงกับเทเลแกรม (Telegram) อยู่เหมือนกันครับ

เทเลแกรมเป็นบริษัทแชต ซึ่งก่อตั้งโดยโปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซีย ได้แก่ นิโคไล และพาเวล ดูรอฟ ในปี 2013 แต่ก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยก่อตั้งบริษัทโซเชียลมีเดียที่มีชื่อว่า VK ลักษณะคล้ายกับเฟซบุ๊ก แต่ด้วยความที่ VK เป็นแพลตฟอร์มที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลปูตินใช้งาน จึงทำให้ทั้งคู่ถูกบีบให้ขาย VK แก่บริษัทที่เป็นพันธมิตรของรัฐบาลรัสเซีย ก็เลยเป็นที่มาของการพัฒนาเทเลแกรม

ปัจจุบันเทเลแกรม ก็ยังเป็นพื้นที่ที่สำคัญของกลุ่มที่มีแนวคิดตรงข้ามกับรัฐบาลใช้เป็นช่องทางในการพูดคุยในหลายประเทศ และยังคงแนวคิดของการเป็นแอปแชตที่จะไม่ใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่ในเวลานี้ เทเลแกรมก็เริ่มหารายได้บ้างแล้ว ด้วยการใช้วิธีการโฆษณาบนห้องแชตสาธารณะ หรือแชนแนลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก

นี่ถือเป็นย่างก้าวเล็กๆ ของบริษัทน้องใหม่ ที่มีจุดยืนชัดเจน มีมอตโตของบริษัทแสดงถึงความกล้า และดูมีความแตกต่าง ทว่าทุกอย่างก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น แต่เป็นจุดที่ชวนให้เราได้ติดตามย่างก้าวของ You.com ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป.

ที่มา: StatistaTechCrunchWashington PostThe Verge 






บทความโดย นักเขียน "คุณวิวัฒน์ รุ่งแสนสุขสกุล" นักเขียนผู้สนใจในเทคโนโลยี สนีกเกอร์ เชียร์เซาธ์แฮมป์ตัน และแอลเอ เลเกอร์ส

และขอขอบคุณแหล่งที่มา "ไทยรัฐออนไลน์"

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

สำนักงาน กสทช. มีการใช้งานคุกกี้เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับความสะดวกสบาย ได้รับการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อการสนับสนุนความปลอดภัย การวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของสำนักงาน กสทช. ให้ดียิ่งขึ้น ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือก กดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ทราบว่าหากท่านไม่ยอมรับการใช้งานคุกกี้ การนำเสนอเนื้อหาและการใช้งานเว็บไซต์จะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยผู้เข้าชมสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้