• NBTC E-Lib_2022
  • Mobile Application NBTC E-Library
  • PR-Journal
  • PR-Method
  • PR-Smart Digital
  • magazine
  • Facebook Page

Acting Sub Lieutenant Kamchai Jainan
21 Jul 2021

'ไทย-มาเลเซีย' ลงนามร่วมมือพัฒนาด้าน 'ดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จับมือมหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย ลงนามความร่วมมือผนึกกำลังพัฒนาด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีในไทยและมาเลเซีย หวังขับเคลื่อนงานวิจัยใหม่ พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง


162679901928


ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ดาราศาสตร์วิทยุมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่การศึกษาทำความเข้าใจเอกภพ เนื่องจากเป็นดาราศาสตร์พหุพาหะ ศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้มากมายด้วยความยาวคลื่นหลากหลายช่วงคลื่น สังเกตการณ์ภาคพื้นดินได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และสามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์เสมือนที่มีขนาดหน้ากล้องใหญ่เท่าระยะห่างของกล้องในเครือข่ายที่อยู่ห่างกันมากที่สุดบนพื้นโลก ด้วยเทคนิคเครือข่ายแทรกสอดระยะไกล (VLBI)


นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังก่อให้เกิดเทคโนโลยีมากมายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ Wifi ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ MRI และ CT Scan เป็นต้น ปัจจุบัน สดร. กำลังดำเนินการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรับสัญญาณและประมวลผลภายในโดยฝีมือคนไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของ สดร. ที่มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยากในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง หวังว่าการลงนามครั้งนี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีในสองประเทศ และเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาสาขาดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต


ศ.นูร์ซาดาห์ อับด์ ราห์มาน (Prof.Dr. Noorsaadah Abd Rahman) รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมาลายามีวิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มุ่งดำเนินการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีมาตรฐานสูงสุดในระดับสากล สนับสนุนการวิจัยของนักดาราศาสตร์ ปัจจุบันมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ UPSI-UM เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์วิทยุ และขณะนี้กำลังก่อสร้างกล้อง VGOS หรือ VLBI Global Observing System ร่วมกับ สดร. การลงนามครั้งนี้นอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างสองหน่วยงานแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค เพื่อความก้าวหน้าต่อไปในระดับโลกอย่างแท้จริง


ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือ สดร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมาลายาได้จัดการประชุมทวิภาคีออนไลน์ในหัวข้อ “BRIDGING MALAYSIA - THAILAND RADIO ASTRONOMY NETWORKING OPPORTUNITIES” มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน และมีผลงานนำเสนอกว่า 17 หัวข้อ อาทิ พัลซาร์ การเกิดดาวฤกษ์ นิวเคลียสกาแล็กซีกัมมันต์ ยีออเดซี การพัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุ การพัฒนาเครื่องรับสัญญาณวิทยุ เป็นต้น


รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา สดร. ประธานเปิดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า  ประเทศไทยและมาเลเซียได้เข้าร่วมเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAAN) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีบทบาทด้านดาราศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศได้ทุ่มเททำงานร่วมกันตลอด 14 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัย การจัดฝึกอบรมด้านดาราศาสตร์ให้กับนักวิจัยและนักศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านดาราศาสตร์วิทยุและเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ และขีดความสามารถของบุคลากรทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต  


โคอิชิโร่ ซุกิยะมะ (Dr. Koichiro Sugiyama) นักวิจัยด้านการกำเนิดของดาวฤกษ์มวลมาก กลุ่มวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ สดร. หนึ่งในผู้จัดการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมาลายาถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่ง การนำเสนองานวิจัยและอภิปรายผลงานทั้งหมดในการประชุมครั้งนี้จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการวิจัยใหม่ด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างไทย มาเลเซีย ตลอดจนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้น


ขอขอบคุณแหล่งที่มา: 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

สำนักงาน กสทช. มีการใช้งานคุกกี้เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับความสะดวกสบาย ได้รับการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อการสนับสนุนความปลอดภัย การวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของสำนักงาน กสทช. ให้ดียิ่งขึ้น ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือก กดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ทราบว่าหากท่านไม่ยอมรับการใช้งานคุกกี้ การนำเสนอเนื้อหาและการใช้งานเว็บไซต์จะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยผู้เข้าชมสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้