• NBTC E-Lib_2022
  • Mobile Application NBTC E-Library
  • PR-Journal
  • PR-Method
  • PR-Smart Digital
  • magazine
  • Facebook Page

Duangchai Maneechot
07 Jan 2021

"เทคโนโลยีไร้สัมผัส" ชีวิตวิถีใหม่...สไตล์ Next Normal




ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกๆ ด้าน และทำให้เกิดภาวะปกติแบบใหม่ ที่เรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) ซึ่งผู้คนต้องใช้ชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หรือแม้แต่มีระยะห่าง เช่นเดียวกับ วิถีการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากพอสมควร






จาก New Normal สู่ Next Normal...!






ในปี 2564 มีคำถามว่า เทคโนโลยีอะไรที่จะล้ำสมัยมากที่สุด ตอบได้เลยว่า “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” คือ เทรนด์ที่จะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเกือบทุกชนิดในปี 2021





นิตยสาร Strategy+business ของ PwC แนะนำ "3 เทคโนโลยีไร้สัมผัส" ที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหลังการระบาดของไวรัส อย่างแรกคือ "เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด" (Speech recognition) "เทคโนโลยีจดจำใบหน้า" (Facial recognition) และ "สกุลเงินดิจิทัล" (Digital money) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตรง แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญที่จะเข้ามาช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิว หรือ สิ่งของร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้



"เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด" (Speech recognition) ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับอุปกรณ์ที่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงมาพอสมควรแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น โปรแกรม Siri บนไอโฟน หรือ Alexa ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน แต่ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เพียงแต่มีการพัฒนาไปอย่างช้าๆ จนปี 2553 ที่มีเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งด้านซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก และคลาวด์ ทำให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถตีความคำสั่งเสียงได้โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากศูนย์กลาง เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูดในปัจจุบันจึงสามารถเข้าใจคำสั่งได้ซับซ้อนมากขึ้น และเริ่มมีอุปกรณ์ที่สามารถสั่งการด้วยเสียง เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์อัจฉริยะ ที่สามารถสั่งการด้วยเสียงแทนการกดปุ่ม หรือเครื่องขายของอัตโนมัติที่ซื้อสินค้าด้วยเสียง



"เทคโนโลยีจดจำใบหน้า" (Facial recognition) เทคโนโลยีนี้มีความพยายามพัฒนาขึ้นครั้งแรก ราวปี พ.ศ.2503 แต่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมการอ่านข้อมูลในตอนนั้นยังไม่ฉลาดพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จได้ กระทั่งปี 2560 Apple ได้ออกสมาร์ทโฟน ที่มีระบบตรวจสอบใบหน้าเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์แทนการใส่รหัส ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 บริษัทในจีนมีการพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าให้สามารถใช้งานคู่กับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อระบุตัวตนและตรวจวัดไข้ได้ในระยะ 15 ฟุต



และในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อื่นๆได้หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีสนามบินหลายแห่ง เช่น ที่สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในการตรวจคนเข้าเมือง แทนการสแกนลายนิ้วมือ ล่าสุดในอนาคตอันใกล้ อาจจะเป็นปี 2564 นี้ จะมีตู้เอทีเอ็มที่ใช้การตรวจสอบใบหน้าแทนการกดรหัสประตูบ้าน หรือรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยด้วยการตรวจสอบใบหน้าแทนการใช้กุญแจ และเปิดอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องสัมผัส



"เงินดิจิทัล" (Digital money) เชื่อว่า ทุกวันนี้ การไปธนาคารกลายเป็นเรื่องล้า สมัยไปเสียแล้ว สำหรับผู้คนในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ Mobile Banking หรือระบบสแกนเพื่อจ่ายเงินเท่านั้นที่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น แต่การเกิดขึ้นของเงินดิจิทัล ซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้ค่อยๆทำให้ชีวิตผู้คนต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล การรูดบัตรเครดิตหรือเดบิตผ่านระบบออนไลน์ และการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับระบบจ่ายเงิน เช่น Apple pay, Google pay, Ali pay เป็นต้น


ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการช็อปปิ้ง ซื้ออาหาร และสินค้าต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น เพราะมีงานวิจัยระบุว่า ธนบัตร 1 ใบ มีแบคทีเรียสะสมมากกว่า 26,000 ตัวเลยทีเดียว เรียกว่า เป็นแหล่งกำเนิดโรคได้อย่างดีเยี่ยม



ส่งผลให้มีผู้ใช้งานระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลทั่วโลกกว่า 1,300 ล้านคน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนจึงมีทางเลือกในการใช้จ่ายโดยไม่ต้องสัมผัสอะไรนอกจากโทรศัพท์ของตนเอง ไม่ต้องจับเงินที่คนอื่นเคยสัมผัสมาก่อน หรือยื่นบัตรเครดิตให้กับพนักงานเมื่อซื้อสินค้า ร้านค้าเองก็มีทางเลือกเพื่อช่วยรักษาสุขอนามัยของทั้งพนักงานและลูกค้าเช่นกัน



ซึ่งคาดว่า เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านพ้นไป และเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่เราสัมผัสสิ่งต่างๆ น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่า ธุรกิจต่างๆ อาจต้องเริ่มศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับและเท่าทันกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีไร้สัมผัสเหล่านี้ จะเข้ามาปฏิวัติการทำงาน ชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้การสัมผัสหน้าจอ หรือกดปุ่มอย่างแน่นอน



ในปี 2021 และต่อเนื่องไปจากนี้ เชื่อว่า เทรนด์ของ Touchless Society หรือสังคมไร้การสัมผัสจะเข้ามาอยู่กับเราแม้กระทั่งภายในบ้าน เช่น ประตูอัตโนมัติ ก๊อกน้ำอัตโนมัติ ถังขยะอัตโนมัติ หรือแม้แต่ชักโครกอัตโนมัติ ที่นับจากนี้ จะมีอีกระบบหนึ่ง เข้ามาเป็นผู้ช่วยภายในบ้าน ที่เรียกว่า Voice Assistant หรือระบบสั่งการ ด้วยเสียง เพื่อลดการสัมผัสปุ่มกดต่างๆมากขึ้น



อนาคตอันใกล้นี้ ระบบ AI, คลาวด์ และ Big Data จะเข้ามามีบทบาทในทุกๆจังหวะของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจจะเห็นยานยนต์ไร้คนขับ หรือการเดินทางผ่านไฮเปอร์ลูป ที่เร็วกว่าเสียงและแสง จะว่าไป การมาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่ต้องยอมรับว่า COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่ชีวิตของเราเร็วขึ้น


ดังนั้น ในศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึง ทุกคนคงต้องทั้งเตรียมตัว ปรับตัว เตรียมรับมือ เพื่อเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่งและฉลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการมีสุขอนามัยแบบ New Normal ที่ละเลยไม่ได้


ขอขอบคุณแหล่งที่มา


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

สำนักงาน กสทช. มีการใช้งานคุกกี้เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับความสะดวกสบาย ได้รับการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อการสนับสนุนความปลอดภัย การวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของสำนักงาน กสทช. ให้ดียิ่งขึ้น ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือก กดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ทราบว่าหากท่านไม่ยอมรับการใช้งานคุกกี้ การนำเสนอเนื้อหาและการใช้งานเว็บไซต์จะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยผู้เข้าชมสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้