• NBTC E-Lib_2022
  • Mobile Application NBTC E-Library
  • PR-Journal
  • PR-Method
  • PR-Smart Digital
  • magazine
  • Facebook Page

Acting Sub Lieutenant Kamchai Jainan
24 May 2023

ไทยทำสำเร็จ ‘ฉายรังสีส้มโอ’ ผ่านมาตรฐานส่งออกสหรัฐฯ


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) – ม.นเรศวร นำเทคโนโลยี “ฉายรังสีส้มโอ” จนผ่านมาตรฐานการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา


ก่อนหน้านี้ไทยไม่สามารถส่งออกส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากส้มโอไทยยังไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออก ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้หารือร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมทีมนักวิจัยจาก ม.นเรศวร


นำส้มโอไทยมาผ่านนวัตกรรม “ฉายรังสี” เพื่อกำจัดโรคระหว่างขนส่ง ทำให้ยืดอายุของส้มโอได้นานถึง 2-3 เดือน และสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ในราคาที่ถูกลงสำเร็จ



ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ นักวิจัยจาก สทน. กล่าวว่า พ.ศ. 2550 สหรัฐฯ ได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ แก้วมังกร และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนการส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่แมลงศัตรูพืชที่อาจติดไปฟักเป็นตัวและเกิดการแพร่กระจายของแมลงในประเทศปลายทาง


“ทางสหรัฐฯ ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2564 ซึ่งไทยทำสำเร็จแล้ว ส้มโอผลสดที่ผ่านการฉายรังสี พบว่า ยังคงรสชาติที่ดีและอายุการเก็บรักษาไม่แตกต่างจากส้มโอที่ไม่ผ่านการฉายรังสี” ดร.สุวิมล กล่าว


ขั้นตอนแรกเตรียมใส่กล่อง การฉายรังสี และขั้นตอนหลังการฉายรังสี การเตรียมใส่กล่องต้องบรรจุกล่องละ 9-10 ลูก จากนั้นจึงนำเข้าฉายรังสีแกมมาเข้มข้น 400 เกรย์ จึงจะฆ่าเชื้อได้ หลังจากฉายรังสีจึงนำออกจากเครื่อง แล้วนำขึ้นรถเข้าห้องเย็น พร้อมส่งออก ซึ่งระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด หากถูกเปิดจะถูกตีกลับทั้งหมด



ทางด้าน รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจาก ม.นเรศวร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยใช้วิธีการฉายรังสีกับมะม่วง จนทำให้มะม่วงไทยสามารถส่งออกต่างประเทศได้ และต่อมาคือ การฉายรังสีส้มโอ ซึ่งได้รับการะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ส่วนผลไม้ต่อไปที่ทางไทยเตรียมคิดค้นวิธีการพัฒนาจนส่งออกได้คือ ลำไย


“ลำไยที่นำมาฉายรังสีก็ยังไม่ผ่านการส่งออก ซึ่งทีมวิจัยจะต้องแก้โจทย์กันต่อ โดยต้องเริ่มต้นที่การปลูก ทำอย่างไรให้การปลูกลำไยไม่มีสารตกค้าง และมาทดสอบคุณภาพหลังการฉายรังสี แต่เชื่อว่าเร็วๆ นี้ทีมวิจัยจะพัฒนาไปจนถึงตรงนั้นได้” รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าว


รศ.ดร.พีระศักดิ์ ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า สำหรับการขนส่งส้มโอ ไทยจะเลือกวิธีการขนส่งทางเรือ เนื่องจากต้องการลดต้นทุน เพราะการขนส่งทางเรือนั้นราคาถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน และสามารถส่งออกต่อครั้งได้ในปริมาณที่เยอะกว่า 


“ส้มโอฉายรังสีมีอายุเชลล์ไลฟ์ 2-3 เดือน ซึ่งมีอายุนานกว่ามะม่วง ดังนั้น การขนส่งทางเรือจึงเป็นการลดต้นทุน และทำให้ประเทศปลายทางซื้อส้มโอไทยในราคาที่ถูกลงได้” 


ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งออกส้มโอฉายรังสีจะทำให้เกิดมูลค่าทางตลาดปีละ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ายินดี เพราะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยมีรายได้หมุนเวียนในครัวเรือน 


นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล :  คุณกัญญาภัค ทิศศรี และ กรุงเทพธุรกิจ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

สำนักงาน กสทช. มีการใช้งานคุกกี้เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับความสะดวกสบาย ได้รับการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อการสนับสนุนความปลอดภัย การวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของสำนักงาน กสทช. ให้ดียิ่งขึ้น ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือก กดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ทราบว่าหากท่านไม่ยอมรับการใช้งานคุกกี้ การนำเสนอเนื้อหาและการใช้งานเว็บไซต์จะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยผู้เข้าชมสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้